กลุ่มชนเผ่าพื้นถิ่นโพหัก


ชื่อชุมชนภาษาไทย : กลุ่มชนเผ่าพื้นถิ่นโพหัก

วันที่ก่อตั้ง : 17/5/2552

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง :
เพื่อ รวบรวมความรู้ แนวคิด ความเชื่อที่ถูกต้องของกลุ่มชนเผ่าพื้นถิ่นโพหักให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเพื่อเป็นแหล่งไว้อ้างอิงประเพณีกลุ่มชนเผ่าพื้นถิ่นโพหักให้ผู้ที่สนใจ ศึกษา สามารถนำความรู้ของกลุ่มไปใช้ประโยชน์ต่อไปและเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอด ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวชนเผ่าพื้นถิ่นโพหักสืบไป

รายชื่อคณะกรรมการชุมชน
ประกอบด้วย

คุณอำนวย : คุณพูนพิพัฒ์ คงแป้น
คุณลิขิต : คุณหาญ คำสุข
คุณประสาน : คุณมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์
คุณกิจ :
1.นายจรัส มาตกฤษ
2.นายโชคอนันต์ นาคสงวน
3.นายธนา คงอยู่
4.นายประดิษฐ์ อุ่นใจ
5.นายสมเดช แก้วมณี
6.นายสุกรรณ ทองแบบ
7.นางจันทรา เรืองทองดี
8.นางสาวชนัญชิตา เสมสีสม
9.นางน้ำฝน สารสุข
10.นางมณฑิตย์สา มั่นฤกษ์
11.นางวรมน คงอยู่

ที่อยู่ สถานที่ประกอบการชุมชน :
ศูนย์วัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประชุมกลุ่ม

ประชุมกลุ่มเพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ




























ชนเผ่าไทยพื้นถิ่นโพหัก

ด้วยความหลากหลายทางชาติพันธ์ในจังหวัดราชบุรี ทำให้ชาวไทยพื้นถิ่นแท้ๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ชาวไทยพื้นถิ่นกลุ่มใหญ่ที่ยังสามารถ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูด ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ได้เป็นอย่างดี คือชาวไทยพื้นถิ่นโพหัก ในอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี
โพหักเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเห็นได้จากโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ขุดได้จากเนินโคกพลับ ในทุ่งนาหมู่ที่ 4 พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากฝังรวมอยู่กับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆโครงกระดูกเหล่านั้นถูกฝังไว้อย่างเป็นระเบียบมีความประณีตตามลัทธิความเชื่อของชุมชนเครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องประดับ มีทั้งที่ทำจากสำริด กระดูกสัตว์ งาช้าง เขาสัตว์เปลือกหอยและดินเผาที่ฝังร่วมกับกระดูกทุกโครงแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนได้อย่างชัดเจน
ชุมชนโบราณบริเวณป่าหลวง โดยมีโคกพลับเป็นศูนย์กลางนี้ น่าจะเป็นชุมชนที่มีความเจริญยาวนานอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี จากหลักฐานต่างๆ ที่ขุดพบทำให้ทราบว่า ผู้คนในชุมชนจะตั้งบ้านเรือน มีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา หล่อสำริดและทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยหิน โดยได้พบเศษเครื่องปั้นดินเผาแตกกระจัดกระจายอยู่อย่างหนาแน่นและมีหินดุที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการปั้นภาชนะจำนวนมากมาย พร้อมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับ ทำด้วยหิน และสำริด ฝีมือประณีต ซึ่งเป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่าจะต้องมีการค้าขายแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่น เพราะรูปทรงของเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นนั้นพบว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกั
บโบราณวัตถุ ที่เคยได้พบในถิ่นอื่นทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน แสดงว่าชุมชนโบราณที่ป่าหลวงนี้จะต้องเป็นชุมชนที่มีความเจริญมากทีเดียว

ภาษาท้องถิ่นของชาวโพหัก


คนโพหักเป็นคนเผ่าพันธุ์ไทยบริสุทธิ์ หากจะเปรียบเทียบกับตำบลบ้านข้างเคียงที่อยู่ล้อมรอบโพหัก จะเห็นได้ว่า หมู่บ้านอื่นๆ สืบเชื้อสายมาจากเขมรบ้าง ลาวบ้าง มอญบ้าง ทั้งสิ้น จะมีอยู่เพียง อ.ดอนยายหอม และ อ.บางแพ เท่านั้น ที่ยังคงความเป็นไทยแท้อยู่
เมื่อพิจารณาจากรูปร่าง หน้าตาของคนโพหัก เป็นลักษณะของคนไทยอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับคนไทยที่สุพรรณบุรี อู่ทอง นครปฐม ซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงกันมากโดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาพูด ภาษาพูดของคนโพหัก เป็นภาษาไทยแท้ เป็นภาษาที่สามารถพบได้ทั่วไป ในวรรณคดีไทยโบราณ เช่น ขุนช้างขุนแผน สำเนียงของชาวโพหัก จะห้วน สั้นและหนักแน่น กว่าสำเนียงไทยทั่วๆ ไป ซึ่งก็เนื่องมาจากชาวบ้านโพหักในอดีต ประกอบอาชีพ ทำนา
ล่าสัตว์หาปู หาปลา อาศัยอยู่กระจัดกระจาย ตามทุ่งนา ในป่า ริมบึง ฉะนั้นการติดต่อสื่อสารกันจึงต้องพูดให้รู้เรื่องและเข้าใจในเวลาอันรวดเร็วจึงทำให้คนโพหัก เป็นคนที่พูดเสียงดัง ห้วน สั้น สืบมาถึงปัจจุบันคำพูดที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนโพหัก เช่น คำว่า “ หริ ” ใช้แทนคำว่า “ หรือ ” กินข้าวแล้วหริ ก็คือ กินข้าวแล้วหรือ
เมื่อพบเจอกันก็จะทักทายกันว่า “ไปไหนมาเฮ่ย ” “ ทำอะไรกันเฮ่ย ” ลูกหลานโพหักจะเรียกคุณตาว่า พ่อแก่ เรียกคุณยายว่า แม่คุณ
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ยังมีคำอีกมากมายที่เป็นคำไทยแท้ ซึ่งในพื้นที่อื่นๆเลิกใช้ไปแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่โพหักยังนิยมพูดอยู่ เช่น คำว่า “ งามแท้” “ งามไปเลย” “ สุดแท้ถ่ะ” “ แหล่นั่นแหน่ะ” “ เอาถ่ะ” ถึงแม้สำเนียงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะไม่ห้วนเหมือนในสมัยก่อน แต่ก็ถือว่าสำเนียงภาษาของชาวโพหักยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวโพหักอยู่เหมือนเดิม อาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทย ของกรมศิลปากร ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตที่โพหัก ได้รับรองในเรื่องภาษาของชาวโพหัก โดยท่านได้กล่าวกับลูกศิษย์ของท่านว่า เมื่อท่านได้ศึกษาวรรณคดีไทย ท่านมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนโพหักอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ท้องถิ่นอื่นพูดภาษาปนเปกันไปหมดแล้ว คนโพหักยังใช้คำไทยกันอยู่ และตัวท่านเองที่เข้าใจวรรณคดีไทยจนเป็นครูบาอาจารย์ของคนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็เพราะเคยฟังเคยพูดภาษาวรรณคดีมาก่อน

ลักษณะบ้านเรือนไทย

ชาวโพหักนิยมปลูกบ้านทรงไทย หัวแหลม ใต้ถุนสูง ฝาบ้านทำด้วยไม้สักทองฝาลูกสกล ฝาเซี้ยม สลัก ลวดลายสวยงามปูพื้นด้วยไม้กระดานทั้งหลัง มีนอกชาน เอาไว้นั่งพักผ่อน หรือทำกิจกรรมต่างๆ การปลูกบ้านของชาวโพหัก มีการเข้าไม้สวยงาม รับกันได้สัดส่วน ด้วยภูมิปัญญา และฝีมือทาง
ด้านการช่างของชาวโพหัก การเข้าไม้แต่ละตัว จะรับกันแน่นหนาพอดี โดยใช้ “สลัก” ยึดเพียงอย่างเดียว แต่ละชิ้นส่วนของบ้าน จะถูกออกแบบมาสำเร็จรูป ตายตัว สามารถที่จะปลูกสร้าง หรือ รื้อถอนได้ โดยใช้เวลาเพียงวันเดียว ดังเช่น ประเพณีการปลูกเรือนหอ ของชาวโพหัก เพื่อให้ทันฤกษ์งามยามดี ในวันแต่งงาน จึงต้องปลูกเรือนหอให้เสร็จภายในวันนั้น โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมเครื่องเรือน ที่จะปลูกเรือนให้พร้อม และขุดหลุมเสาเอาไว้ ตั้งแต่ตอนเย็น พอเช้ามืดก็จะนำเครื่องเรือนที่เตรียมไว้ มาทำพิธีประพรมน้ำมนต์ เรียกว่า “พิธีทำขวัญเสา” เมื่อทำพิธีเสร็จช่างที่มาช่วยปลูกเรือนหอ ตลอดจนแขกที่มาช่วยงาน ก็จะช่วยกันคนละไม้ คนละมือ จนเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง อาจยังเหลือขั้นตอนมุงหลังคาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในช่วงเวลาที่ช่างกำลังมุงหลังคาอยู่นั้นก็จะนำที่นอน ฟูก หมอนขึ้นเรือนทำพิธี สะกดเรือน โดยเถ้าแก่ทั้งฝ่ายชายและหญิง(ต้องเป็นผู้หญิงทั้งคู่) จะประพรมน้ำมนต์ ที่นอนแล้วขึ้นไปนอนหยอกเย้ากัน ยึดกัน เสียงดังโครมครามจนช่างที่มุงหลังคาร้องแซว เป็นที่สนุกสนาน พอตอนเย็น ก็จะนิมนต์พระมาทำพิธีทำขวัญเรือนหอและสวดมนต์ ซัดน้ำให้กับคู่บ่าวสาว พอมืดก็ทำพิธีส่งตัว
การเล่นสนุก และ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของชาวโพหัก จะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ของชาวโพหักให้มีความสามัคคี รักใคร่ กลมเกลียวกัน ช่วยกระชับความเป็นมิตร เป็นญาติ และความเป็นเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นมั่นคงขึ้นบ้านทรงไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวโพหัก ซึ่งในปัจจุบัน ขณะที่หมู่บ้านอื่น ตำบลอื่น พากันละทิ้งเรือนไทย หันไปปลูกสร้างบ้านตามสมัยนิยมกันหมดแล้ว แต่ชาวโพหักก็ยังคงนิยมปลูกบ้านเรือนไทยอยู่ ถึงแม้จะมีการผสมผสาน เอาความสมัยใหม่เข้าไปบ้าง แต่ความเป็นไทยพื้นถิ่นโพหัก ก็ยังคงอยู่อย่างชัดเจน